อาหารสำหรับผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุโดยทั่วไปมักจะมีความเสื่อมของร่างกายตามอายุที่เพิ่มขึ้น ร่วมกับการมีโรคประจำตัว อาจทำให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารได้น้อยลงหรือทานอาหารไม่เอร็ดอร่อยเหมือนเดิม ส่งผลให้เกิดภาวะทุโภชนาการ ซึ่งเราจะทราบได้จากการที่ผู้สูงอายุนั้นมีดัชนีมวลกายที่น้อยกว่า 20 (วิธีคำนวณดัชนีมวลกาย= น้ำหนักตัว(กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูง(เมตร) ยกกำลังสอง)
หรือผู้สูงอายุมีน้ำหนักลดโดยไม่ได้ตั้งใจ

ผู้สูงอายุที่มีภาวะทุโภชนาการมักจะมีภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อยลงร่วมด้วย ส่งผลให้มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง หกล้มง่าย ติดเชื้อง่าย และเกิดแผลกดทับได้ง่าย

ดังนั้นจึงควรให้ความสำคัญเรื่องของการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุโดยควรให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารครบทั้งห้าหมู่อย่างพอเพียง โดยเฉพาะการรับประทานอาหารโปรตีนที่มีคุณภาพสูงเพื่อการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย เช่น เนื้อปลา ไข่ เนื้อไก่ ถั่วเหลือง เป็นต้น นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับอาหารที่มีแคลเซี่ยมและวิตามินดีเพื่อบำรุงกระดูกให้แข็งแรง อาหารที่มีแคลเซี่ยมสูงได้แก่ นม โยเกิร์ต งาดำ เป็นต้น
ผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวควรรับประทานอาหารตามชนิดของโรคด้วย เช่น ผู้สูงอายุที่เป็นเบาหวานควรลดอาหารที่หวานมาก แป้ง และน้ำตาล
ผู้สูงอายุที่เป็นมะเร็งต้องการโปรตีนสูงขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่รักษาด้วยให้เคมีบำบัดและการฉายแสงซึ่งมีการซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอมากกว่าคนทั่วไป จะต้องการโปรตีนคุณภาพสูงที่มีกรดอะมิโนจำเป็นมากขึ้น ส่วนผู้สูงอายุที่มีโรคไตระยะท้ายก่อนทำการฟอกไตต้องการโปรตีนที่น้อยลง(น้อยกว่า 0.8 กรัมต่อกิโลกรัมต่อวัน) แต่ ถ้ามีการฟอกไตแล้วจะต้องการโปรตีนที่สูงขึ้น เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผู้สูงอายุโดยทั่วไปควรรับประทานอาหารให้ครบถ้วนทั้งห้าหมู่ซึ่งจะมีประโยชน์มากกว่าการรับประทานอาหารเสริม แต่สำหรับผู้ที่รับประทานอาหารไม่ครบถ้วน ควรเพิ่มอาหารอาหารเสริมและวิตามินร่วมด้วย

ผู้สูงอายุที่มีปัญหาการรับประทานอาหารและมีโรคประจำตัวควรปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหาร ร่วมดูแลเรื่องการรับประทานอาหารให้เหมาะสม เพื่อการมีสุขภาพที่แข็งแรง

พญ.พันวดี รัตนสุมาวงศ์

บทความที่แนะนำ

ผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มได้ง่ายเนื่องจากความเสื่อมของร่างกายตามอายุ

April 1, 2024

7:51 am

การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายมีประโยชน์ในคนทุกเพศ

April 1, 2024

2:58 am